July 23, 2020
Is it all rights? ชวนไผ่ ดาวดิน คุยถึงปรากฏการณ์ม็อบนักศึกษาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ไล่ไปตั้งแต่หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ #ไม่ถอยไม่ทน ไฟจุดติดพรึบพรับ ก่อนจะหยุดลงเพราะโควิด และกลับมามาลุกโชนอีกครั้ง ในชุมนุมเยาวชนปลดแอก #ให้มันจบที่รุ่นเราที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเสาร์ที่ 18 ก.ค. ผ่านมา
พร้อมๆ กับคำถามที่เกิดขึ้น ความหวังยังมีได้ไหม? ม็อบจุดติดแล้วเดี๋ยวจะดับอีกรึเปล่า? อยากทำอะไรสักอย่าง ไปชุมนุมเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงหรือ?
May 26, 2020
Podcast ตอนนี้ เราจะพาไปสำรวจว่า การใช้อำนาจสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาดในประเทศอื่นๆ ในโลก เขาจัดการกันอย่างไรโดยที่ประชาชนยังมีส่วนร่วมได้ เขาชั่งน้ำหนักระหว่าง “เสรีภาพ” กับ “สุขภาพ” อย่างไร จริงๆ แล้วสองอย่างนี้มันไปควบคู่กันได้ไหม เพื่อให้เราเห็นตัวเลือกอื่น แล้วชวนกลับมาย้อนมองบ้านเรา ที่นายกรัฐมนตรีชูหลัก “สุขภาพนำเสรีภาพ” และกำลังจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 2...
April 5, 2020
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คืออะไร? การประกาศใช้ครั้งนี้ มีผลยังไงและมีนัยยะสำคัญยังไงบ้าง เป็น "ยาแรง"ที่แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่? และข้อสังเกตทางกฏหมายที่มีต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ จากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เมย์ พูนสุข พูนสุขเจริญ รวมถึงประสบการณ์การจากทนายแอน ภาวิณี ชุมศรี ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงปัญหา การใช้อำนาจล้นเกิน การใช้เพื่อกำจัดคนเห็นต่าง จากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ผ่านมาของทั้งกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ และในปี 2553
February 19, 2020
อีกไม่กี่วันศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีธนาธรปล่อยเงินกู้ให้พรรคตัวเอง พ็อดแคสตอนนี้เลยจะมาชวนคุยความเป็นมาของกฏหมายยุบพรรค การยุบพรรคการเมืองในไทย เปรียบเทียบกับกรณีการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในเยอรมัน เกาหลี และกัมพูชา พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้ควรเติบโตอย่างไร และกลับมาที่ของไทยเรา กรณีพรรคอนาคตใหม่นี้จะเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ไหม และเราประชาชนธรรมดาจะวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้มากน้อยแค่ไหน ติดตามได้ในตอนนี้เลย
February 14, 2020
12 ม.ค.63 ที่ผ่านมา กลายเป็นวันสำคัญของการแสดงออกทางการเมืองครั้งใหญ่ จากการลุกขึ้นมาออก “วิ่งไล่ลุง” 39 จังหวัดที่จัด ผู้เข้าร่วมในกทม.เรือนหมื่น ยังไม่รวมในตจว.ที่มีตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย แต่การออกวิ่งครั้งนี้ล้วนเต็มไปด้วยขวากหนาม TLHR จึงชวน นพพล อาชามาส ผู้ติดตามปรากฏการณ์นี้อย่างใกล้ชิด มาชวนคุยเรื่องการละเมิด กีดกั้น กดดันของจนท.รัฐ เพื่อเรียนรู้ บันทึก และหาทางไม่ให้เหตุการณ์ละเมิดที่ไม่ควรเป็นเรื่องปกตินี้เกิดขึ้นอีก
February 12, 2020
ตอนนี้เรามีแขกรับเชิญพิเศษ คุยกับ ทนายรอน นรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความประจำ #TLHR
ชวนคุยเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หลังจากที่ผ่านการชุมนุม flash mob ที่สกายวอร์ค เมื่อปลายปีที่แล้ว ต่อด้วย #วิ่งไล่ลุง เมื่อต้นปี โดยมีการเรียกดำเนินคดีทั้งผู้จัดและผู้ชุมนุมโดยใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กฏหมายฉบับนี้ถูกนำมาใช้เพื่อการปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีทีท่าว่าจะใช้ต่อไป
แล้วทีนี้จะชุมนุมอย่างไรให้ถูกกฎหมาย ติดตามได้ในตอนนี้เลย #การชุมนุมเป็นสิทธิ
December 11, 2019
นอกจากเราจะมีกฎหมายพิเศษที่มีมาร้อยกว่าปีอย่างกฎอัยการศึกแล้ว ทุกวันนี้เรายังมีกฎหมายพิเศษที่ออกมาอีกเป็นจำนวนมากในยุค คสช. ที่ออกมาตามมาตรา 44 ถ้าเราไม่ตระหนักถึงการมีอยู่และไม่หาทางจัดการ ก็จะยังเหมือนอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. เราจะหาทางจัดการกับผลพวงของมันหรือเราจะอยู่กับมันต่อไป? ถ้าไม่อยากอยู่กันต่อจะจัดการอย่างไร เราคงช่วยกันหาคำตอบได้หลังเรารู้ว่ามันกระทบกับเราอย่างไร
November 21, 2019
เสียงปืนหนึ่งนัดที่ดังขึ้นในศาลจังหวัดยะลา เมื่อ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ดังก้องไปถึงคนทั้งประเทศ ทว่าหลังผ่านมา 1 เดือน เรื่องกลับเงียบหายลง... ทั้งที่ในวงตุลาการ ถือเป็นเรื่อง "ช็อกวงการ" ที่มีการใช้ความรุนแรง และสื่อสารกับคนข้างนอกผ่านคำแถลงการณ์ 25 หน้า ชวนคุยกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง เริ่มตั้งแต่เรื่อง ความอิสระของผู้พิพากษา ปัญหากฏหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ลามเลยมาถึงกลายเป็นโมเดลที่มาใช้กับส่วนกลางปัจจุบันเช่นกัน